8 มหาวิทยาลัยกับภารกิจ เทรนด์ประกอบการ ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น

ว่างงาน ทำอะไรดี! มีไอเดีย อย่ายอมแพ้ รับรองไม่อดตาย! หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มี “หัวคิด” อยากพัฒนาสินค้าที่ทำอยู่ให้ดีขึ้น แต่ขาดแคลน ความรู้ เงินทุน เน็ตเวิร์คด้านต่างๆ จงรู้ไว้ว่ารัฐมีหน่วยงานที่สนับสนุนเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ แต่ละปีมีงบประมาณเพื่อเทรนด์เหล่า MSME (ผู้ประกอบการรายย่อย) ให้ยืนบนขาของตัวเองได้ พร้อมก้าวที่แกร่งในเรื่องส่งออกตีตลาดโลก หากสินค้ามีคุณภาพ

 

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า  สสว. ได้จับมือจับมือ 8 ม.ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ ม.นเรศวร ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.วลัยลักษณ์ และม.สงขลานครินทร์ จัดตั้ง ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center ทั้งด้านเกษตร และด้านการพัฒนาชุมชน ครอบคลุม 4 ภูมิภาค 8 แห่งทั่วประเทศ มุ่งหวังให้เป็นกลไกสำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ตั้งเป้ายกระดับองค์ความรู้ธุรกิจ 3,200 ราย

อบรม Online และ Offline เพื่อพัฒนาและให้คำปรึกษาถึงสถานที่แบบเจาะลึก จากนัั้นจัดกิจกรรมทดสอบตลาด ด้วยการหาพื้นที่ทำเลทองใจกลางเมือง นำวิสาหกิจชุมชนพร้อมเหล่าสมาชิกจากทั่วประเทศกว่า  400 ราย มาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า เป็ฯการ เพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ รวมถึงต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน นำไปสู่การสร้างบริการใหม่ๆ  ซึ่งได้มอบหมาย มอบเงินทุนสนับสนุน ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ลงทุนช่วยเหลือในแต่ละวิสาหกิจด้วย โดยเฉลี่ยตอนนี้  1 มหาวิทยาลัย ดูแลกำกับครอบคลุม 40 วิสาหกิจ ดูแลพัฒนสินค้าไม่ต่ำกว่า 40 ผลิตภัณฑ์/บริการ ซึ่งได้จัดทดลองตลาดด้วยการจัดงาน “ผสาน สร้างสรรค์ มุ่งมั่น ยั่งยืน” พร้อมกับการแสดงสุดยอดผลิตภัณฑ์ (Product Champion) จำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ ตลอดเดือน ก.ย. ณ ลานเมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม เชื่อว่าสร้างเม็ดเงินและรายได้ให้กับผู้ประกอบการ กว่าสิบห้าล้านบาท

ด้านผลงาน Excellence Center : ม.เชียงใหม่  ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ  มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โดยมีการทำงานร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (STeP) และ ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) ม.เชียงใหม่ ในการจัดอบรมนำร่อง เพิ่มองค์ความรู้ด้านอาชีพและธุรกิจให้กับผู้สมัครใน  4 ด้าน อันได้แก่ ความรู้ด้านบัญชี ช่องทางการค้าและส่งเสริมการค้าออนไลน์ การเขียนแผนธุรกิจ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อพัฒนาต่อยอดไอเดียธุรกิจ และได้เข้าพบปะกับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ณ สถานประกอบการจริง เพื่อให้คำปรึกษาและพัฒนาด้านการผลิตและรูปลักษณ์ของสินค้าและบริการ มีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนให้เป็นเครือข่ายกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายช่องทางการตลาดให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

ภายในงาน ม.เชียงใหม่ ได้นำผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ในโครงการฯ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีศักยภาพกว่า 50 ราย เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านการตลาด เข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายสินค้า เพื่อเป็นการทดลองการทำตลาดจริง ก่อนที่วิสาหกิจชุมชนจะก้าวออกไปสู่การแข่งขันในตลาดต่อไป โดยมีผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนหลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและของใช้จากผ้าทอพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยมีผลิตภัณฑ์เด่นที่ทางม.ฯ นำมาร่วมแสดงสินค้าในครั้งนี้ อาทิเช่น

  • ผลิตภัณฑ์แคบปลานิล แบรนด์นิลลี่ กับผลิตภัณฑ์ใหม่ปลานิลบดผง มีกลิ่นหอม รสชาติปลาเข้มข้นร้อนแรงจากเครื่องเทศ จากวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าประมงตำบลแม่เย็น จ.เชียงราย
  • ผลิตภัณฑ์เห็ดนางฟ้ากรอบรสดั้งเดิม (เห็ดสมุนไพร) จากวัตถุดิบออร์แกนิคผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ จากวิสาหกิจชุมชนเพาะแปรรูปเห็ดสวนแม่ทะ จ.ลำปาง แบรนด์ Fungo Food
  • ผลิตภัณฑ์ผ้าปักมือลวดลายวีถีชีวิตเผ่ากะเหรี่ยง ลวดลายธรรมชาติ ดอกไม้ และจุดเด่นคือลูกเดือย จากวิสาหกิจชุมชนปักผ้าฝ้าย ป่าปุ๊ จ.แม่ฮ่องสอน แบรนด์พิมพาผ้าปัก กับผลิตภัณฑ์ใหม่ชุดสำหรับครอบครัวที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น
  • ผลิตภัณฑ์เครื่องต้มยำอบแห้งแบบน้ำใส น้ำข้น และแบบพร้อมรับประทาน จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมและเพาะปลูกสมุนไพรออร์แกนิค จ.ลำปาง เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตและจัดจำหน่ายชาสมุนไพรมาก่อน จนได้มาเข้าร่วมโครงการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้น บรรจุภัณฑ์ที่ทางม.ฯ ออกแบบและพัฒนาให้ มีการใช้ลวดลายกราฟิกความเป็นไทย สามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศได้
  • Product Champion ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากมะไฟจีน แบรนด์ขวัญธารา จากวิสาหกิจชุมชนขวัญธารา จ.น่าน เป็นต้นแบบของนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นบนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Excellence Center : ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีศักยภาพบูรณาการหน่วยงานภายในเพื่อให้บริการชุมชนอยู่แล้ว เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม  ด้านการจัดการอุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ  ระบบ IOT ห้องปฎิบัติการ ด้านการตรวจสอบในอุตสาหกรรมอาหาร  โดยเฉพาะการให้บริการแก่ธุรกิจชุมชนในรูปแบบการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ (Workshop) เพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่จับต้องได้ รวมถึงให้การอบรมเพิ่มความรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์/สินค้าและให้คำปรึกษาแบบเจาะลึกถึงสถานที่ พร้อมทั้งขยายช่องทางการตลาดทั้งแบบ Online และ Offline ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพเพื่อต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสร้างบริการใหม่ๆ และสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ โดยภายในงาน ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้นำสินค้าจากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในโครงการฯ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่มีศักยภาพและสินค้ามีความโดดเด่นกว่า 50 ราย มาร่วมแสดงสินค้าในครั้งนี้ อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสเห็ดเยื่อไผ่ จากวิสาหกิจชุมชนบางด้วนนวัตวิถีก้าวหน้า จ.สมุทรปราการ ผู้สร้างรสชาติความอร่อยของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คำนึงถึงความปลอดภัย 100% เพื่อช่วยชุมชนในการพัฒนา รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ความมั่นคงของคุณภาพชีวิ ผลิตภัณฑ์ขนมปังไรซ์เบอรี่ไส้มะพร้าวและเครื่องดื่มตามหลักโภชนบำบัด จากวิสาหกิจชุมชนข้าวไรซ์เบอรี่ไผ่รื่นรมย์นครปฐม กลุ่มผลิตบ้านลีนา จ.นนทบุรี โดยนำนวัตกรรมเส้นใยอาหารจากพืชธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติในทางบำบัดมาผสมเพิ่มคุณประโยชน์ ทำให้ขนมปังมะพร้าวตามหลักโภชนบำบัด ให้ประโยชน์แก่สุขภาพช่วยยืดอายุการทำงานของระบบอาหารในร่างกาย ผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้าแปรรูป เพื่อก่อเกิดแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสาน ให้เป็นมรดกส่งต่อรักษาไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไปในรูปแบบทันสมัย จากชเอมผ้าขาวม้าอัมพวาของชำร่วย จ.สมุทรสงคราม ผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอม จากสวนมะพร้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ 100% บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ จากวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ส่วน Product Champion ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ที่ผ่านขบวนการเก็บกลิ่นแบบธรรมชาติ เป็นระบบสกัดเย็นที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส และมีขบวนการแยกความชื้นได้ 100% จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำมันมะพร้าวบ้านแสงอรุณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Noble sense

ดร.ปิยวรรณ สิริประเสริฐศิลป์ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยว่าการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจะผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ CEDP MJU (Center of Excellence for Enhance and Developing Community Products, Maejo University) ซึ่งดำเนินการนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับชุมชน จนสามารถสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค มีพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมภาคเหนือ 17 จังหวัด ในช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามกรอบที่ สสว. กำหนดไว้ได้ตามแผนงาน โดยใช้กระบวนการและวิธีการที่ได้จากการประชุมหารือร่วมกันของทั้ง 8 มหาวิทยาลัย ทั้งนี้สำหรับ Product Champion ของผู้ประกอบการที่ได้จากการพัฒนาของมหาวิทยาลัยจะเป็น สครับฟักข้าวรังใหม สำหรับทำความสะอาดถนอมผิวหน้า ซึ่งจะไม่แสบผิว สามารถสครับผิวโดยไม่ทำให้ผิวมีริ้วรอย หรือรอยเหี่ยวย่นเหมาะกับผู้ที่มีผิวหน้ามัน และผิวหน้าแพ้ง่าย      สำหรับการนำผู้ประกอบการภายใต้โครงการเข้าร่วมงานทดสอบตลาดในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมั่นใจว่าสินค้าของผู้ประกอบการทั้ง 50 ราย ส่วนใหญ่จะได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงาน เพราะในช่วงวันที่ 26-27 สิงหาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ทดลองนำไปร่วมออกงานแสดงสินค้าและพบคู่ค้า ในงาน Northern Agi-Biz Supply Chain Matching ณ โรงแรมคุ้มคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มาแล้ว  ซึ่งรายได้จากการร่วมงานดังกล่าว มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านบาท โดยได้มีการทำธุรกิจกับคู่ค้าที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.อรรถพล  มณีแดง รองผู้อำนวยการเทคโนธานีฝ่ายบริหารจัดการนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  กล่าวสรุปการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตลอดระยะเวลาในการทำงานที่ผ่านมา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการยกระดับวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ดำเนินงานผ่าน เทคโนธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ประสานงาน ปรับแปลงถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปสู่ภาคการผลิต/ ผู้ประกอบการ/และชุมชน ให้มีความสามารถในการแข่งขัน เป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการ ให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาศักยภาพของตน ให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อเพิ่มผลผลิต และยกระดับองค์กรชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดย เทคโนธานี ได้ทำการประชาสัมพันธ์ และคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่ 10 จังหวัด 28 หน่วยงาน ซึ่งได้รับการตอบรับเข้าร่วมโครงการจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการยกระดับวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบไปด้วย  รอบที่ 1  จัดอบรมให้ความรู้ด้านอาชีพและธุรกิจกับผู้ที่ได้รับคัดเลือกโครงการ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 414 ราย/ธุรกิจ โดยความรู้พื้นฐานด้านอาชีพและธุรกิจต่างๆ รอบที่ 2 จัดอบรมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ จำนวน 59 ราย/ธุรกิจ เข้าฝึกอบรมและพัฒนาเชิงลึก รอบที่ 3 จัดอบรมวิสาหกิจที่มีศักยภาพ 25 ราย/ธุรกิจ ในการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และการดำเนินงานในรอบสุดท้าย เป็นการคัดเลือก Product Champion ซึ่งได้แก่ วิสาหกิจชุมชนปลูกและแปรรูปว่านหางจระเข้ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ดำเนินการพัฒนา “สูตรตำรับเครื่องสำอางเบสรองพื้น กันแดด ที่ผสมสารสกัดว่านหางจระเข้” ที่มีการยกระดับและพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจดังกล่าว โดยในลำดับสุดท้ายนี้ เราได้นำผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ 50 ราย เข้าร่วมกิจกรรม เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายสินค้า ณ ลานสุขสยาม ไอคอนสยาม แห่งนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการส่งเสริมและเข้าสู่ตลาดจริง เพื่อสร้างความพร้อมในการก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาดต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ยุทธพงศ์ พุทธรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ม.นเรศวร    เริ่มดำเนินงานโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2562 (พื้นที่ภาคเหนือ) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 คณะทำงานได้มีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อวางแผนการดำเนินงาน กำหนดการกิจกรรมต่างๆ และจัดทำหลักเกณฑ์การรับสมัคร และการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมโครงการ   และสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพ ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 410 ราย จากนั้นทำการวินิจฉัยเพื่อพัฒนา พร้อมฝึกอบรมฝึกปฏิบัติเชิงลึก 5 ด้าน ได้แก่ จัดทำแผนธุรกิจ การพัฒนาตราสินค้า โลโก้ การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต การสร้างช่องทางตลาดออนไลน์  รวมถึงได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 รายธุรกิจ เพื่อร่วมออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ณ ห้างสรรพสินค้า ICONSIAM โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัล Product Champions ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่าผสมทองคำแท้  Oh..!! GOLD HONEY จากวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผึ้งพันธุ์ธาราทิพย์ จ.นครสวรรค์

สำหรับจุดเด่นผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่าผสมทองคำแท้  Oh..!! GOLD HONEY คัดสรรจากน้ำผึ้งป่าคุณภาพดีจากธรรมชาติมีการผสมทองคำแท้บริสุทธิ์ 99.99% ในน้ำผึ้ง บรรจุภัณฑ์ส่งเสริมถึงภาพลักษณ์ความเป็นไทยร่วมสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ในการเล่าเรื่องผ่านภาพประกอบและกราฟฟิกบนบรรจุภัณฑ์ อาทิ ลวดลายไทย ลายประจำยาม ลายกระหนก และลายยักษ์ที่คอยปกป้องรักษาพระศาสดา พร้อมทั้งบรรจุภัณฑ์ชั้นในและชั้นนอกที่มีการออกแบบเพิ่มเติมทางด้านปกป้องตัวสินค้ามากขึ้นเพิ่มความสะดวกในด้านการขนส่ง ไปยังจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย

ผศ.ดร.ผานิตย์ คุ้มฮิ้น  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2562   โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับราษฎรในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดความสร้างสรรค์ในการนำวัตถุดิบ ภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น   มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เสริมสร้างความรู้ พัฒนาทักษะให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชนให้มีการบริหารจัดการที่ดี และผลิตภัณฑ์ หรือบริการของชุมชนที่ได้มาตรฐาน สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (Cluster) และความร่วมมือ ระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาองค์ความรู้ และความเป็นอยู่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากส่วนบุคคล (เพื่อการยังชีพ) เป็นการรวมกลุ่มชุมชน (ยังชีพและธุรกิจชุมชนขนาดเล็ก) เป็นการยกระดับเป็นกลุ่มธุรกิจ (วิสาหกิจชุมชน) และพัฒนาเป็น SMEs (วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนนิติบุคคล/นิติบุคคล –บจก.-หจก.)

โดยเริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ตั้งแต่การวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ภาคการเกษตร เพื่อวางแผนการดำเนินงาน  จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ทฤษฎีและเชิงปฏิบัติการด้านธุรกิจ   ในเรื่องความรู้พื้นฐานการวางแผนภาษี, เทคนิคการตั้งราคา และช่องทางการตลาดออนไลน์และเรื่องความรู้พื้นฐานแนวคิดการทำธุรกิจยุค 4.0 ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 461 ราย คัดเลือกผู้ประกอบการมีศักยภาพจากจำนวนทั้งหมด 461 ราย เหลือ 55 ราย  จากนั้นคัดเลือกเหลือเพียง 20 ราย   เพื่อพัฒนาและค้นหา Product Champions จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปลาฉิ้งฉ้างทอดกรอบรสต่างๆ(วันลาภ)  จากวิสาหกิจชุมชนบ้านกะไหล จังหวัดพังงา ซึ่งปลาฉิ้งฉ้างเป็นปลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 โปแทสเซียมและแคลเซียมในปริมาณที่สูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และยังช่วยลดระดับความดันในโลหิต กับการผลิตที่ปราศจากผงปรุงรส และวัตถุกันเสีย จึงทำให้มีรสชาติ หวาน มัน กรอบ อร่อยลงตัว จึงมีความแตกต่างกับแบรนด์อื่นๆ

เห็นได้ชัดว่า ถ้ามีไอเดีย มุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่มีอดตาย เพียงแต่กระบวนการแข่งขัน ต้องสู้กันสักนิด  แต่ผลสำเร็จ คุ้มค่า มาออกงาน ออกร้านฟรี ของดี ก็จำหน่ายได้ ยอดยาว เป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนในก้าวแรกนะคะ