6 เหตุผลที่ควรไป?? ดูงานแสง สี เสียง สื่อผสม 4D ตำนานพระเวสสันดร

บอกแล้วไม่ฟัง! ให้หาเวลาไป! แล้วก็เสียดายจนได้! วันนี้ PRWOWWOW จะมารีวิวละเอียด หลังจากไปร่วมงาน บุญผะเหวด 2563 มาแล้วที่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งจัดการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสม 4D อย่างน่าดู ชวนขนลุกมาก

สำหรับประเพณีบุญผะเหวด  ถือเป็นงานบุญเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาวจังหวัดร้อยเอ็ดมานานกว่า ๑๐๐ ปี  ระบุในคำขวัญของจังหวัด เรื่องงานบุญเดือน ๔ ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวอีสาน    กิจกรรมสำคัญ คือ การแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง “พระเวสสันดรชาดก”  ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดีในนาม “เทศน์มหาชาติ”   ภาษาอีสานเรียกว่า  “เทศน์ผะเหวด”  ซึ่งปีนี้ จ.ร้อยเอ็ด ยังได้ทุ่มงบยิ่งใหญ่ ในการจัดแสดงแสงสีเสียง สื่อผสม 4D  ตำนานพระเวสสันดร “มหาชาดก ชาติที่ 10 มหาชาติ พระสัพพัญญู” 

 ความพิเศษของการแสดงครั้งนี้

  1. ความยิ่งใหญ่อลังการ : ครั้งนี้ย่อใจความทั้ง  13 กัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 1000 กว่าพระคาถา มาไว้ในรูปแบบการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสมสุดยิ่งใหญ่ ตระการตา ระยะเวลา 45 นาที ผู้แสดงกว่า 100 คน

2. โอกาสทำบุญ ทาน และขึ้นสวรรค์ : ตำนาน ความเชื่อ ทำให้พุทธศาสนิกชนหลั่งไหล  มูลเหตุแห่งการทำบุญผะเหวด  มีกล่าวไว้ในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยให้ไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ได้พบและสนทนากับพระศรีอาริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งจะได้จุติกาลลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต  ทราบความประสงค์ของมนุษย์จากพระมาลัยแล้วจึงสั่งความกับพระมาลัยว่า  “หากใครต้องการจะพบและเกิดในสมัยพระศรีอารีย์ ให้ทำแต่ความดี อย่าฆ่าพ่อตีแม่ สมณชี  พราหมณ์ ครูอาจารย์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า อย่ายุยงสงฆ์ให้แตกกัน  และต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียว  ท่านทั้งหลายจะได้เกิดร่วมและพบพระองค์” ซึ่งงานครั้งนี้ ถ้าใครไม่ได้ฟังทั้ง 13 กัณฑ์ครบ )ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนเกือบสองวันเต็ม) มาดูการแสดงนี้ได้เป็นฉบับย่อ

3. อิ่มจุใจ ได้กินฟรีทั้งเมือง : ช่วงงาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด”  ถือได้ว่าเป็นงานบุญมหาชาติที่จัดได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน  ส่วนราชการ ร้านค้า หน่วยงาน พร้อมใจกันทำอาหารมาเสิร์ฟ หรือไม่ก็ตั้งที่หน้าบ้าน ให้คนผ่านไปผ่านมา ได้ตัก หยิบ เรียกว่าทานฟรีกันทั้งเมือง โดยเฉพาะข้าวปุ้น หนึ่งในเมนูพื้นบ้านที่นิยมในงานบุญ อร่อยมากๆ

4. รู้จัก เว่าผญา ภาษาอีสานโบราณ : บทพูดที่ละครใช้คือ  หรือ “ผญา”  เป็นคำเก่าแก่ เนื้อเรื่องได้ดัดแปลงมาจากต้นฉบับของ อาจารย์มั่น จงเรียน  ด้วยสัมผัสและความหมายของภาษาเก่าแก่ และคนอีสานปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว มันจึงยากมาก ๆ ทำอย่างไรนักแสดงจะเข้าใจตัวละคร สื่อสารกับผู้ชม-ผู้ฟัง และยังคงคุณค่าทางภาษา/วรรณกรรม  ที่งดงามนี้ไว้  โดยการแกะเนื้อหาชาดกจากใบลาน  พร้อมอ่านเล่าเว่าผญาเป็นภาษาอีสานโบราณ   เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่  พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์  มีหลายร้อยเรื่อง ทั้งว่าทรงเคยเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง แต่ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ 10 ชาติสุดท้ายที่เรียกว่าทศชาติชาดก และชาติสุดท้ายที่สุดที่ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร จึงเรียกเรื่องพระเวสสันดรนี้ว่า มหาเวสสันดรชาดก

5. รับรู้เรื่องราวในชาติสุดท้าย  13 กัณฑ์ 1000 พระคาถา   : ในรูปแบบการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสม แต่ต้องขอบอกว่า ด้วยระยะเวลาการแสดง ทำให้ต้องขมวดแบบรวบรัด ทั้งนี้ รายละเอียดแต่ละกัณฑ์ ที่รวบรวมไว้  อาทิ  กัณฑ์ทศพร มี 19 พระคาถา กัณฑ์หิมพานต์ มี 134 พระคาถา กัณฑ์ทานกัณฑ์ มี 209 พระคาถา กัณฑ์วนประเวศน์ มี 57 พระคาถา กัณฑ์ชูชก มี 79 พระคาถา กัณฑ์จุลพน มี 35 พระคาถา กัณฑ์มหาพน มี 80 พระคาถา กัณฑ์กุมาร มี 101 พระคาถา กัณฑ์มัทรี มี 90 พระคาถา กัณฑ์สักกบรรพ มี 43 พระคาถา กัณฑ์มหาราช มี 69 พระคาถา กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี 36 พระคาถา กัณฑ์นครกัณฑ์ มี 48 พระคาถา

6. พิสูจน์ถึงฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก : งานแสดง ละครเวที ประกอบ แสงสีเสียงสื่อผสม 4D  ใช้ลูกหลานของชาว จ.ร้อยเอ็ด โดยมี คุณศุภกฤต ฉัตรจารุกุล ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ งาน CG Graphic ฉากประกอบการแสดงและอำนวยการสร้าง    บทและกำกับการแสดงโดย  ธีรวัฒน์ เจียงคำ ศิลปินอิสระ ร่วมกับ  อาจารย์พชญ อัครพราหม์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาการแสดง  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  พร้อมด้วยนักแสดงหลักจากภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักแสดงร่วมจาก มาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาควิชาศิลปะการแสดง

อีสานได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่ร่ำรวยศิลปะและวัฒนธรรมก็รุ่งเรืองถึงขีดสุดเช่นกัน จ.ร้อยเอ็ด เป็นศูนย์กลางภาคอีสานตอนกลาง มีศิลปะวัฒนธรรมและกิจกรรมท้องถิ่นหลากหลาย สำหรับคนที่พลาดไปแล้ว ชมภาพสวยๆ ไปก่อน พร้อมไปเที่ยวกันใหม่ในงานบุญครั้งหน้า ถ้ารักบุญผะเหวด โปรดทราบ งานจะจัดต้นเดือน มี.ค. ค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์แรกค่ะ แล้วพบกันปีหน้า