รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังบรรลุเป้าหมาย “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ลดโลกร้อน

  • โลกของเรามีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปเพราะ “ปรากฏการณ์เรือนกระจก”  (Greenhouse Effect) สาเหตุที่สำคัญจากมนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนสูญเสียสมดุล อุณหภูมิของโลกจึงร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ และสิ่งมีชีวิตบางชนิดทนไม่ได้และตายไป หรือบางชนิดใกล้สูญพันธุ์  
  • ผลกระทบจาก “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ก่อให้เกิดความร่วมมือกันของชาติต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และควบคุมการเพิ่มขึ้น
    ของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ณ ปลายศตวรรษ

 “ปรากฏการณ์เรือนกระจก”   เป็นวิกฤตการณ์ของโลก เกิดจากการรวมตัวหนาแน่นของก๊าซประเภทต่างๆ อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกิจกรรมพลังงาน/คมนาคมขนส่ง/อุตสาหกรรม และกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ หรือแม้แต่ก๊าซมีเทนจากธรรมชาติ ล้วนส่งผลกระทบทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความร้อนดังกล่าวจะไปละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลต่อประเทศที่เป็นหมู่เกาะและชายฝั่งของทวีป ตลอดจนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ใช้สำหรับเป็นที่ผลิตอาหารและอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เกิดปัญหาน้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติจะรุนแรงมากขึ้น  อีกทั้งในตอนนี้ยังมีปัญหาสำคัญทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปฝนตกไม่เป็นไปตามฤดูกาล จึงเกิดปัญหาต่อทุกคน โดยเฉพาะภาคการเกษตร

ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบจาก“ปรากฏการณ์เรือนกระจก” จึงร่วมกับประชาคมโลกในการช่วยลดความรุนแรงของปัญหาที่จะกิดขึ้นในอนาคต และลดความเสี่ยงของผลกระทบที่ประเทศไทยต้องเผชิญ อาทิ การลดความรุนแรงของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งจะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยขับเคลื่อนตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030: NDC) ครอบคลุมสาขาพลังงานและคมนาคมขนส่ง  สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ สาขาการจัดการของเสีย

ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดโลกร้อน สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย
ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงผนึกกำลังกับ
5 กระทรวง (กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ 16 หน่วยงานจากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนด้วย “มาตรการทดแทนปูนเม็ด” เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ   

เร็วๆ นี้จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง 21 หน่วยงาน พร้อมแถลงข่าว “การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด”

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2563 เวลา 13.30 น. – 16.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรม
แชงกรี-ลา กรุงเทพฯ