นวัตกรรมไทยทำได้ เตรียมใช้วิทยาการใหม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ปรากฏการณ์เรือนกระจก”   เป็นหนึ่งวิกฤตการณ์ เกิดจากการรวมตัวหนาแน่นของก๊าซ จากอุตสาหกรรม และควันพิษ หรือแม้แต่ก๊าซมีเทน ที่ล้วนส่งผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น มีผลทำให้ความร้อน ของอากาศที่มีอยู่ในโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความร้อนจะไปละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลกทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลต่อประเทศที่เป็นหมู่เกาะและชายฝั่งของทวีป ตลอดจนดินดอนสามเหลี่ยม   ปากแม่น้ำ ที่ใช้สำหรับเป็นที่ผลิตอาหารจมอยู่ใต้ทะเล ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะรุนแรงมากขึ้น  อีกทั้งในตอนนี้ยังมีปัญหาสำคัญทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปฝนตกไม่ตามฤดูกาล จึงเกิดปัญหาต่อการเกษตร พืชผลไม่เจริญเติบโต

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อันเกิดจากภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission) ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต  จึงเกิดความร่วมมือกันของชาติต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก  เกิดข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่จะร่วมมือกันรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส   ในส่วนของประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในภาคีสมาชิก ร่วมกับประชาคมโลก ที่จะทำให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยขับเคลื่อนตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030: NDC) ครอบคลุมสาขา

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และ สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  จึงได้ ผนึกกำลังกับ 5 กระทรวง และ 16 หน่วยงาน แสดงเจตจำนงขับเคลื่อนร่วมกัน    ภายใต้แนวคิด   “Together for our World”   รวมพลังเพื่อโลกของเรา และร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ “การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด”

  นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า

             “การลดก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เป็นเรื่องการดำเนินการเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องของทุกคน/ ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการร่วมกัน ทั้งนี้ อยากให้มองว่า การดำเนินการในวันนี้ ท้ายสุดแล้วเป็นผลดีต่อเราทุกคน ลูกหลานของเรา และคนรุ่นต่อๆ ไป  สำหรับแวดวงอุตสาหกรรมได้จัดทำ ‘มาตรการทดแทนปูนเม็ด’ ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ นั้น มีความตั้งใจมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนที่จะร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมให้มีการใช้งาน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา รวมกันดำเนินการในด้านต่างๆ จะเป็นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถลดการปล่อย CO2ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ ในปี พ.ศ. 2565 ตามเป้าหมาย”

ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly Industry) ในแวดวงผู้ผลิตปูนซีเมนต์ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการก่อสร้างยุคใหม่ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  และได้พัฒนา  “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก”  ขึ้นมาใช้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

          สำหรับวิทยาการใหม่  ในการผลิตปูนซีเมนต์จะมีกระบวนการเผาวัตถุดิบเพื่อเปลี่ยนให้เป็นปูนเม็ด (Clinker) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มี การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมา ดังนั้น หากเราใช้ปูนเม็ดในสัดส่วนที่น้อยลง  ก็จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมานั่นเอง

ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก  เป็นปูนซีเมนต์ที่มีวิธีการผลิตเช่นเดียวกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพียงแต่มีความแตกต่างในส่วนผสม  เน้นควบคุมที่คุณสมบัติและประสิทธิภาพมากกว่าควบคุมคุณลักษณะทางเคมี  โดยคุณลักษณะเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2594  ซึ่งคล้ายคลึงกับมาตรฐาน ASTM C1157 ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ใช้งาน มอก. 2594 กำหนดให้ผู้ผลิตต้องควบคุมคุณภาพด้านกำลังอัด (Strength) ตามระยะเวลาที่กำหนด และควบคุมการขยายตัวที่อายุ 14 วัน สามารถใช้ในงานก่อสร้างได้ทั่วไป งานก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องการกำลังอัด และความทนทานสูง เช่นเดียวกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์

ความสำเร็จของความร่วมมือนี้ “Together for our World” ทำให้ประเทศไทยลดการปล่อย CO2 ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน CO2ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่า Thailand NDC Roadmap ที่กำหนด การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) สนับสนุน Thailand NDC และข้อตกลงปารีสในการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อน แผนการดำเนินงานของประเทศไทยก็จะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้และโลกของเราก็จะน่าอยู่และยั่งยืนตลอดไป

ได้เวลาเปลี่ยน เพื่ออากาศ + ชีวิตที่ดีขึ้น  = โลกที่สวยงามน่าอยู่ตลอดไป กันแล้ว