แกะรอยโรดแมป “ซีเมนต์ของไทย” เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

ดร.ชนะ ภูมี นายก TCMA ประกาศเร่งเครื่องเดินหน้าโรดแมปซีเมนต์ของไทย ยกระดับเชื่อมโยง Green Funds ระดับโลกสู่ไทย ความสามารถการแข่งขัน และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

“ดร.ชนะ ภูมี” นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA ประกาศขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘TCMA Synergizing the Actions toward Net Zero 2050’ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน พร้อมนำนวัตกรรมยกระดับอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด (Energy Transition) เชื่อมโยง Green Funds จากนานาชาติ มุ่งสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สนับสนุนขีดความสามารถอุตสาหกรรมของไทย และตอบโจทย์เมกะเทรนด์ลดโลกร้อน

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ประกาศวิสัยทัศน์ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้นำอีกสมัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘TCMA Synergizing the Actions toward Net Zero 2050’ขับเคลื่อนภารกิจนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 ผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน พร้อมยกระดับความร่วมมือ TCMA ในเวทีนานาชาติ นำ Green Funds ช่วยอุตสาหกรรมไทยพร้อมรับมือเมกะเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว และเติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.ชนะ นำทีมผู้บริหาร TCMA ฉายภาพถึงทิศทางการทำงานของ TCMA ซึ่งเป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายในประเทศไทย ที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายระยะยาวร่วมกัน โดยในระยะ 2 ปีนี้ 2567-2569 จะเร่งเดินหน้าผนึกกำลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุพันธกิจใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. การพัฒนาและวิจัยปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำชนิดใหม่ๆ เช่น Calcined Clay Cement ต่อเนื่องจากที่ประเทศไทยได้ก้าวสู่ Thailand’s New Era of Low Carbon Cement ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นปูนซีเมนต์โครงสร้างหลัก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปี 2566 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 600,000 ตันคาร์บอน-ไดออกไซด์
  2. การเร่งขยายผลการทำเหมืองให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เพื่อให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาพื้นที่เหมืองร่วม ‘เขาวงโมเดล’ ตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Practices) และการนำนวัตกรรม/เทคโนโลยีการทำเหมืองมาช่วยยกระดับการทำเหมือง ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและนำประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและชุมชนในพื้นที่ สามารถเป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน
  3. การเชื่อมโยงสร้างระบบนิเวศ และนำจุดแข็งของกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มาช่วยจัดการ/สร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัสดุที่ไม่ใช่แล้ว (Turn Waste to Value)
    ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำ Waste ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และการเกษตร (ภายหลังผ่านกระบวนการ Reduce, Reuse, Recycle) มาใช้เป็นเชื้อพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing Kiln) ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดมลพิษ PM2.5 ลดความต้องการพื้นที่ฝังกลบ (Zero Landfill) และที่สำคัญลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย TCMA ตั้งเป้าในปี 2030
    สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 6.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
  4. การนำนวัตกรรมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด (Energy Transition) ครอบคลุมทั้งด้านการเชื่อมโยงนโยบายภาครัฐ การแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการเชื่อมโยงแหล่งทุนต่างๆ ในระดับโลก ที่เรียกว่า Green Fund เข้ามาในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเร่งขับเคลื่อนโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์-ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ” หรือ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” เป็นการทำงานในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยใช้แนวทาง 3 C คือ Communication-Collaborative action-Conclusion step-by-step และจำลองจังหวัดสระบุรีให้เป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทย เป็นต้นแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามกรอบความร่วมมือในแต่ละสาขา ซึ่งสอดคล้องกับ “Thailand NDC Roadmap” และเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงเริ่มดำเนินการโครงการตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านพลังงาน (Energy Transition) เช่น โครงการพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โครงการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงาน โครงการ Grid Modernization โครงการศึกษาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) 2) ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) เช่น การผลิตปูนลดโลกร้อน การพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำชนิดใหม่ 3) ด้านการจัดการของเสีย (Waste) เช่น โครงการจัดการขยะเป็นพลังงานทางเลือก (Alternative Fuels: AF) และเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) 4) ด้านการเกษตร (Agriculture) เช่น การส่งเสริมทำนาคาร์บอนต่ำ และ 5) ด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use, Land-Use Change and Forestry : LULUCF)

“การดำเนินโครงการลักษณะนี้จะเกิด win-win-win เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยความสำเร็จ ต้องการความร่วมมือและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันดำเนินการ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องของหน่วยงานต่างๆ อาจมีกฎระเบียบที่ต้องแก้ไขเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ การมีโครงการต้นแบบเหล่านี้มากๆ จะเป็นตัวอย่าง จะทำให้เห็นแนวทางดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เรื่องใดทำได้จะนำไปขยายผลสู่จังหวัดอื่น เรื่องใดทำไม่ได้ต้องหาแนวทางแก้ไขหรือทางออกที่ดีต่อไป เช่น การเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎระเบียบให้เหมาะสม ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานกลางของรัฐ” ดร. ชนะ กล่าว

ดร.ชนะ กล่าวย้ำตอนท้ายว่า “TCMA มีความตั้งใจมาก และเป็นนโยบายหลักที่จะสนับสนุน
การทำงานของภาครัฐ และพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ รวมถึง
การยกระดับผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ ในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN Cement Collaboration towards Decarbonization และในระดับโลก เช่น การเข้าร่วมประชุม COP27 และ COP28 อย่างต่อเนื่อง และการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA)
ซึ่งทำงานร่วมกับ UNFCCC ขององค์การสหประชาชาติ และ World Economic Forum เพื่อเชื่อมโยง
ความร่วมมือและแหล่งทุนต่างๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย สร้างความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรม และไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ตามเป้าหมาย”

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 2567 ประมาณการว่า จะกลับมาเติบโตเมื่อเทียบกับ
ปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นต้วของภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง การส่งออกที่สามารถกลับมาขยายตัวได้ ซึ่งจะสนับสนุนให้การก่อสร้างของภาคเอกชนทยอยกลับมาเติบโต รวมถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Maga Project) ที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นและภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลต่อกำลังซื้อ โดยตรงของผู้บริโภค (Residential) รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชน (Commercial) และการเติบโตของเศรษฐกิจไทย