“คนไทยเก่งนะ” คุยกับ อ.ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผอ.ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ ด้านการผลิตนวัตกรที่ท้าทาย

  • ส่วนที่เรากำลังผลักดันอยู่คือทำอย่างไร เราถึงจะทำให้ประเทศนี้พึ่งพาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้ เพื่อที่เราจะได้อยู่อย่างยั่งยืน เพื่อที่ประเทศเราจะได้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต ดังนั้นเราต้องทำอย่างไรเพื่อให้เรามีอุตสาหกรรมที่พึ่งพาได้ เราก็ต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่เหล่านั้นขึ้นมา ต้องผลักดันบริษัทที่มีศักยภาพให้เขาโตให้ทัน ในการที่จะทำให้เราได้รับประโยชน์
  • เรามีสตาร์ทอัพ ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมอนาคตอยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงจะผลักดันสตาร์ทอัพเหล่านั้นให้โตขึ้นมาเร็วที่สุด กฎระเบียบทั้งหลายที่เป็นตัวบล็อกไว้ อย่างไรถึงจะได้รับการช่วยเหลือ ผ่อนคลายหรือทำให้ใช้ระยะเวลาที่สั้นลงได้ แรงสนับสนุนแต่เดิมที่ต้องไปวิ่งหาเองเลือดตาแทบกระเด็น ทำอย่างไรถึงจะช่วยมีแรงสนับสนุน ให้เขาสเกลอัพเพื่อให้บริษัทโตขึ้นมาได้ และมั่นคงพอต่อกรกับบริษัทใหญ่ ๆ ข้างนอกได้
  • ทุกวันนี้ทุกคนช่วยกันมากเพื่อให้เกิดสตาร์ทอัพขึ้นมา และทำให้อยู่ได้ยั่งยืน ถามว่ายังมีปัญหา มีอุปสรรคอะไร ก็ต้องบอกว่าแรงของเราแผ่วลง เมื่อเทียบกับสามปีที่แล้ว เรามีแรงมากกว่านี้ อาจจะด้วย โควิดหรือภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ มันก็เลยทำให้แรงทุกอย่างมันแผ่ว ส่วนหนึ่งที่เราคุยกันด้วยก็เหมือนกับว่า ศูนย์บ่มเพาะหายไป พอมันไม่มีเราก็ไม่สามารถสร้างStart up ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ถ้าเราไม่มีสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ก็ไม่ต้องหวัง scale up (ตาย 9 รอด 1) เพราะถ้าเรามีบริษัทเกิดน้อย แล้วมันจะมีบริษัทตัวไหนที่มีศักยภาพตัวไหนที่รอดมาได้ จนถึงตัวที่เราสามารถพึ่งพาได้

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวชวนคนรุ่นใหม่ร่วมประกวดค้นหาสุดยอดนวัตกร “TSX Sustainable Innovation Competition & Hackathon” เพื่อตอบโจทย์อนาคตสู้โควิดแบบยั่งยืนจากแนวคิดตลอดเวลาที่โลกต้องผจญกับวิกฤติ จำเป็นอย่างยิ่งที่คนรุ่นใหม่จะต้องเป็น “ผู้นำ” เตรียมพร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เรียกนวัตกรรมเพื่อให้สังคมอยู่รอดไปด้วยกัน หลากหลายหน่วยงาน อาทิ Thailand Sustainability Expo 2021 จึงร่วมกับ CU Innovation Hub และ ThaiBev จัดกิจกรรมโครงการนี้ขึ้น ภายใต้หัวข้อ Disrupting Health & Wellness Experience in COVID-19 เพื่อรวมคนที่มีความสามารถในด้านธุรกิจการตลาด,               การออกแบบ, เทคโนโลยี ฯลฯ มาแข่งขันชิงความเป็นสุดยอดนวัตกร เพื่อสร้าง Impact ได้อย่างยั่งยืน

อ.ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์

เราพยายามสร้างกองทัพผู้นำรุ่นใหม่ ที่จะสามารถรับมือได้กับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะฉะนั้น สิ่งที่ CU Innovation Hub ทำ คือเรามี 3 ภารกิจคือ หนึ่ง สร้างผู้นำแห่งอนาคต เพื่อที่เขาจะได้ออกไปรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ เขาสามารถที่จะไปเป็นผู้นำองค์กรได้ ไปสร้างองค์กร หรือช่วยองค์กรรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ในอนาคต อันที่สอง เราต้องการสร้างและผลักดันงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมีอาจารย์หลายท่าน บางท่านก็ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการเป็นศาสตราจารย์แล้ว แต่อยากเห็นงานวิจัยของตัวเองมาให้ประโยชน์กับสังคมจริง ๆ ซึ่งเราก็ยินดีมาก ก็มาพูดคุยกับเรา ช่วยกันผลักดันให้งานวิจัยออกมาเป็นรูปธรรมและสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ๆ เกิดประโยชน์กับสังคมจริง ๆ ท่านใดที่ยังไม่พร้อมก็รับการบ่มเพาะไป วันไหนที่พร้อมก็ออกมา เรามีกลไกต่าง ๆและระบบนิเวศ คอยช่วยเหลือ ในการที่จะผลักดันงานวิจัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ ได้จริง ๆ ประโยชน์อีกทาง ถ้าอาจารย์ลงมือทำเอง อาจารย์จะเห็นปัญหา และอาจารย์รู้ว่าจะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้กลับไปสอนนิสิตได้เยอะแยะมากมายและทำให้เกิดพัฒนาตัวอาจารย์เองด้วย ข้อที่สามคือการพัฒนาสังคมไปสู่ความยั่งยืน ที่เรากำลังทำ คือจุฬาฯ อยู่ไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว ถ้าไม่ยั่งยืน ถ้าประเทศชาติไม่พัฒนาเราก็คงอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ชุมชน สังคม และประเทศของเราต้องยั่งยืนไปกับเรา ทุกวันนี้ จุฬาฯ ไม่ได้มองเพียงแค่ชุมชนสังคมรอบจุฬาฯ แต่ยังมองถึงความยั่งยืนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และอาเซียนบวกสามด้วย

ความคาดหวังกับในงาน “TSX Sustainable Innovation Competition & Hackathon” ครั้งนี้?

อยากเห็นนวัตกรรุ่นใหม่ ที่สามารถนำเสนอไอเดียออกมาได้ เป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพได้ในอนาคต และสามารถสร้างอิมแพคได้จริง แก้ปัญหาโควิดได้ และอยากได้ไอเดียใหม่ ๆ เพราะเราอยู่กับนักวิจัยทั้งหลาย เรามองจากสิ่งที่เราประสบ และเรามองว่ามันอาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดมุมมอง เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เช่น นักเรียนมัธยม นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัย ด้วย ในการมาช่วยนำเสนอไอเดีย นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างอิมแพคได้จริง ๆ อย่างยั่งยืน ถ้ามีอะไรใหม่ออกมาแล้วมันสามารถแก้ไขอะไรได้ดีกว่าเดิม ถ้าโควิดมันมีระลอกต่อไป เราก็จะรับมือได้ดียิ่งขึ้น

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ คนรุ่นใหม่ สู่การเป็น นวัตกร ?

คนไทยเก่ง ไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถคิดนวัตกรรมระดับโลกอย่างวัคซีนใบยา หรือ ChulaCov19” (จุฬาคอฟไนน์ทีน)  ออกมาได้ คนไทยไม่แพ้ชาติไทยในโลกจริง ๆ  สิ่งที่สำคัญคือเราต้องกำหนดโจทย์และเวลาให้ มองเป็นทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน เพราะเราอยู่กันมาแบบที่มีคนตั้งโจทย์ให้ตลอดชีวิต ถ้ามีโจทย์คนไทยแก้ได้หมด บอกมาว่าเดทไลน์วันไหน แต่ตรงกันข้ามถ้าไม่มีโจทย์ให้ก็ไปไม่ถูก ไม่กำหนดเวลาให้ก็ไม่ทำ ก็ต้อง ขอยืมคำพูดของรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ และเป็นนวัตกร ผู้ริเริ่มธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งมีอิทธิพลกับความคิดของดิฉันอย่างยิ่ง ท่านบอกว่าคนไทยไปประกวดอะไร แข่งขันอะไร ก็ชนะทั้งนั้น ได้ที่หนึ่งที่สอง แต่พอประกวดกลับมาแล้ว เราทำไมไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคนเหล่านั้นเลย  คืออยากจะบอกว่าอาชีพใหม่ ๆ อาชีพในอนาคต ประเทศเราก็ยังไม่ค่อยมีเวทีให้  การผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์  เอไอ โรโบติกส์  ไบโอเทค เป็นต้น จึงสำคัญมาก ตัวอย่าง กรณีของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็น สปินออฟ ของอาจารย์ที่คณะเภสัชฯ  ก็เกิดขึ้นเพื่อที่จะผลักดันนวัตกรรมทางด้านไบโอเทคและสร้างอาชีพใหม่ ๆ เป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขาได้ทำงานในสิ่งที่เขาเก่ง ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ สร้างนวัตกรรม นวัตกร และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

ในอดีตเราสร้างคนอีกแบบเข้าสู่สังคม เราสร้างคนเข้าสู่องค์กรแบบที่ไปรับโจทย์จากองค์กรแล้วก็ทำงานตอบโจทย์นั้น ๆ ไป ถ้าจะให้มอง จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมหลายๆ อุตสาหกรรมในอนาคตมันไม่ได้อยู่ในมือเรา อุตสาหกรรมที่มันมีความสำคัญกับประเทศเราไม่ได้เป็นคนที่ชี้กำหนดทิศทาง และทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากมันเต็มที่ ในอดีตในบางคณะคือจบแล้วก็ออกมาแล้วก็เข้าองค์กรหมด หรือไม่ก็ไปเป็นพนักงานขาย ขอยกตัวอย่าง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทสปินออฟของไทย อาจารย์ยังทำงานอยู่ที่คณะ สอนวิจัย ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ยังสามารถสร้างงานวิจัย ผลักดันงานวิจัยออกมาเป็นนวัตกรรม เช่น วัคซีนใบยาเพื่อป้องกันโควิด รวมถึงการคิดค้นยามะเร็งได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องตรวจคัดกรองว่าติดโควิดหรือเปล่าซึ่งช่วยประเทศได้มากมาย บริษัท ใบยา ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่รองรับคนรุ่นใหม่ที่จบมาแล้วได้ทำงานตรงตามสาขาและศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศ

เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทรนด์การแข่งขันแบบ Hackathon ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน?

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าวัยรุ่นคงอยากได้รับการรับฟัง และเห็นสิ่งที่เขาพูดออกมาถูกเอามาทำในแบบรูปธรรม คนทุกคนน่าจะอยากเห็นแบบนั้น ส่วนเวทีประกวดแบบนี้ ในอดีต ยุคหนึ่งตอบปัญหาชิงรางวัลก็แค่ตอบปัญหาไป ต่อมาคือการแข่ง การประกวดแผนธุรกิจ การทำแผนธุรกิจประกวด มันคือการลับสมองตัวเองตลอดเวลา มันสร้างเรื่องความคิด วิเคราะห์ ตรรกะ คิดสร้างสรรค์มันได้หมด และเขาสามารถสร้างทีมของเขาได้อย่างไร เขาต้องทำอย่างไรเพื่อให้ทีมเขาไปรอด เป็นทักษะของการเป็นผู้นำ ของการแก้ปัญหา ของสังคม ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ คนที่เข้าแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ จะกลายมาเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งมันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาก็ต้องผ่านช่วงล้มลุก คลุกคลาน แต่ด้วยสิ่งที่เขาสั่งสมมา หลายรายก็กลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ หลายคนที่ทำเกี่ยวกับแผนธุรกิจก็จะออกมาแนวนี้ วันนี้มันถึงจุดที่ว่าแข่งสตาร์ทอัพ ไม่ได้ทำแค่แผน แต่ต้องลงมือทำจริงด้วย แข่งประกวด สตาร์ทอัพต้องเริ่มจากปัญหา หาปัญหาให้ได้เสียก่อน อันนี้คือเหตุที่ทำให้สตาร์ทอัพได้รับความนิยมเพราะว่า มันไม่ได้เพียงแค่ทำจากความต้องการของตนเอง แต่มันเกิดจากปัญหาที่มีในสังคมด้วย เพราะฉะนั้นโอกาสที่ได้รับความตอบรับ มันก็เลยมีโอกาสมาก

ความเป็นจริง “นักประดิษฐ์” กับ “นายทุน” น่าจะเป็นเนื้อคู่กัน แต่ทำไมไม่แมทช์กันสักที?

ถ้าสายวิชาการ เราจะแบ่งชัดเจนว่าเป็น Inventor กับ Innovator  คือ นักประดิษฐ์ (Inventor) เขามักจะไม่สนใจว่า ประดิษฐ์อะไรออกมาแล้วคนอื่นจะนำไปใช้หรือไม่ ส่วนนวัตกร (Innovator) ผู้สร้างนวัตกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญคือต้องได้รับการยอมรับในการนำไปใช้ คุณจะเห็นว่ามีของประดิษฐ์เจ๋ง ๆ แต่มันไม่ได้รับการยอมรับในการนำไปใช้ เพราะว่ามันอาจจะใช้ยากมากเกินไป ซับซ้อนเกินไป ราคาสูงเกินไป ซึ่งมันมีหลายประเด็นมากในการยอมรับในเทคโนโลยีนั้น เพราะฉะนั้นนักประดิษฐ์ส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยสนใจเรื่องการยอมรับ ว่าคนจะยอมรับไหม เขาก็จะคิดในมุมของตัวเอง และประดิษฐ์สิ่งที่ตัวเองอยากประดิษฐ์ แต่ถ้าเป็นนวัตกร จะต้องมองถึงว่า ฉันทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอะไร จะดีกว่าทางเลือกอื่นที่มีอยู่อย่างไร และคนจะยอมรับนวัตกรรมนี้เพราะจุดอะไรเป็นสำคัญ ต้องทำให้เกิดการยอมรับในเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้ได้ นายทุนอยากได้อะไร อยากได้นวัตกรรมนวัตกรจึงเหมือนเป็นมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย บางทีอาชีพของเรามีความแยกส่วนกันมาก ๆ เพราะการเรียนรู้ที่ผ่านมามันทำให้คนแยกกัน ทำแค่หน้าที่ของตัวเอง มันต้องมีคนเชื่อมที่เข้าใจว่าทางซ้ายต้องการอะไร ทางขวาต้องการอะไร แล้วมันจะมาชนกันได้อย่างไร มาต่อกันได้อย่างไร ตอนนี้จุฬาฯ ก็ผลิตคนพันธุ์นี้ขึ้นมาเป็นอีกโปรแกรมหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจทั้งเชิงธุรกิจ เข้าใจในสายเทคโนโลยีและสายดีไซน์ด้วย เพื่อทำให้คน 3 กลุ่มนี้เชื่อมเข้ากันให้ได้ แล้วเราก็จะได้นวัตกรรมคือ สิ่งประดิษฐ์ที่มีคนยอมรับเพราะตอบโจทย์ ตอบความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมตามความต้องการของผู้ลงทุน